วันเสาร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2557

ทะเลบัวแดง อุดรธานี


   ช่วงเดือนธันวาคม - เดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี จะเป็นเทศกาลเที่ยวทะเลบัวแดงบานที่หนองหานกุมภวาปี แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอุดรธานี ที่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง ด้วยความงดงามของดอกบัวที่บานสะพรั่งกลางหนองหานเป็นระยะทางยาวนับกิโลเมตร ก็กลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนท่าเรือบ้านเดียม ตำบลเชียงแหว อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี อย่างคับคั่ง บัวแดงเหล่านี้จะบานพร้อมกันเป็นระยะเวลาไม่กี่เดือน  ระยะเวลาในการชมดอกบัวแดงบานที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 06.00 น. - 11.00 น. หลังเวลาเที่ยงดอกบัวแดงจะเริ่มหุบกลีบดอกเข้า




    ช่วงปีใหม่ที่เดินทางกลับไปบ้านที่อุดรฯ ก็เลยถือโอกาสไปเที่ยวที่ทะเลบัวแดง ซึ่งก็สร้างความประทับใจไม่น้อยเลยทีเดียว มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมมากมาย เรือนำเที่ยวทะเลบัวแดงให้บริการโดยคิด อัตราเหมาลำระยะใกล้ 300 บาท นั่งได้ไม่เกิน 10 คน เหมาลำระยะไกล 500 บาท นั่งได้ไม่เกิน 10 คน และเหมาลำดูนก ชมทะเลบัวแดง 500 บาท ถ้าไม่เหมาลำก็มีเรือหางยาวให้บริการ

 

    การเดินทาง ถ้ามาจากจังหวัดขอนแก่นใช้ถนนมิตรภาพมุ่งหน้าไปอุดรธานี ถึงเขตอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี จะมีทางแยกเลี้ยวขวา มีป้ายบอกทางไปทะเลบัวแดงเป็นระยะ
    หรือ เลยแยกอำเภอกุมภวาปีไป ถึงปั๊ม PT ชิดขวาแล้วกลับรถ ใช้ทางหลวงชนบท แยกซ้ายมือมุ่งหน้าอำเภอประจักษ์ศิลปาคม มีป้ายบอกทางไปทะเลบัวแดงตลอดทาง ประมาณ 16 กิโลเมตร มีแยกขวาเข้าบ้านเดียม

    ถ้าออกจากตัวเมืองอุดรธานี ขับมาตามถนนมิตรภาพ ประมาณ 22 กิโลเมตร มีทางแยกเลี้ยวซ้ายเป็นทางหลวงชนบทไปทางอำเภอประจักษ์ศิลปาคม เป็นการท่องเที่ยวทะเลบัวแดงด้วยการเดินทางตามทางหลวงชนบทสายเล็กๆ  มีป้ายบอกทางไปทะเลบัวแดงตั้งแต่ริมถนนมิตรภาพ และตามเส้นทางเป็นระยะๆ  จะถึงทางแยกเข้าโรงเรียนบ้านเดียม เลี้ยวขวามาจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลที่จอดรถให้ในโรงเรียน ค่าจอด 10 บาท



 เมื่อซื้อบัตรลงเรือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ไปยืนรอขึ้นเรือตามคิวที่ทางเจ้าหน้าที่จะจัดให้  ใช้เวลาในการนั่งเรือประมาณ 10-20 นาที ก็ถึงบริเวณดงบัวแดง คนขับเรือก็จะไปแวะจอดให้เราถ่ายภาพ จนเป็นที่พอใจก็จะพาวนกลับ ซึ่งเรือแต่ละลำกว่าจะวนกลับเข้าฝั่งแต่ละเที่ยวก็ใช้เวลาร่วมชั่วโมง
    ถ้ามาช่วงเช้าๆ ที่ทะเลบัวแดงแห่งนี้ก็จะได้ภาพพระอาทิตย์ขึ้นสวยๆ และหลากหลายมุมของผู้คนที่ดำเนินชีวิตบนหนองแห่งนี้ น่าเสียดายที่ตอนเราไปเป็นช่วงสายมากแล้วก็เลยไม่ได้ภาพเหล่านี้มาฝาก